สงสัยพาเพลินรอบรั้วมหาวิทยาลัยไทย ตอนที่ 8 ... เครื่องแบบนักศึกษา เครื่องแบบความคิด: ทำไมเครื่องแบบนักศึกษาไม่ใช่สำหรับมหาวิทยาลัย

วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


เครื่องแบบนักศึกษา เครื่องแบบความคิด: ทำไมเครื่องแบบนักศึกษาไม่ใช่สำหรับมหาวิทยาลัย - ศิลปศาสตร์สำนึก 6: 16 (กันยายน 2549)




แพทริค โจรี, เขียนจิรวัฒน์ แสงทอง, แปล


u – ni – form  (Adj).

1. Always the same, as in character or degree; unvarying.

2. Conforming to one principle, standard, or rule; consistent.
3. Being the same as or consonant with another or others.
4. Unvaried in texture, color, or design. [American Heritage Dictionary]


สิ่งหนึ่งที่ทำเอาผม (และน่าจะรวมถึงคนอื่นๆ ด้วย) งงงันไปพักใหญ่เมื่อย่างเท้าเข้ามายังมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือการที่เห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดเครื่องแบบนักศึกษา!!
ในความเข้าใจกันทั่วๆ ไป ชุดเครื่องแบบนั้นน่าจะเป็นเรื่องระดับโรงเรียน ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัย และในความเป็นจริงก็คือประเทศไทยนั้น  แทบจะกลายเป็นกรณีพิเศษหนึ่งเดียวในโลกเสียแล้ว ต่อการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องสวมใส่ชุดเครื่องแบบนักศึกษา ไม่เฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปเท่านั้น หากแต่รวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเองก็ด้วยเช่นกัน


นักศึกษาอินโดนีเซียที่ผมรู้จัก และเป็นนักกิจกรรมตัวยงคนหนึ่ง รู้สึกประหลาดใจอย่างมาก กระทั่งต้องถามผมว่าทำไมนักศึกษาไทยไม่เคลื่อนไหวต่อต้าน “การคุกคามสิทธิมนุษยชน” ต่อพวกเขาบ้างเลย การควบคุมให้นักศึกษาแต่งชุดเครื่องแบบนักศึกษานั้นถือเป็น “เรื่องใหญ่” เรื่องหนึ่งของมหาวิทยาลัย
ป้ายประกาศประเภทหนึ่ง ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณหน้าห้องทำงานหรือห้องธุรการของทุกสำนักวิชาฯ หรือทุกหน่วยงานก็คือป้ายที่มีเนื้อความประมาณว่า“นักศึกษาที่มาติดต่อต้องแต่งกายถูกต้องตามระเบียบ”1 ที่วลัยลักษณ์นี้ก็บ่อยครั้งไป ที่เราจะได้ยินเสียงบ่นจากบรรดาอาจารย์ว่านักศึกษาแต่งกายไม่เรียบร้อย


ในช่วงต้นปีการศึกษาที่ผ่านมา ได้มีโครงการรณรงค์ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ปรับปรุงการแต่งกายให้ได้มาตรฐาน ซึ่งก็คือการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาให้ถูกต้องตามระเบียบ ประเด็นสำคัญคือว่า เราจะอธิบายอารมณ์หงุดหงิดเป็นกังวลต่อการแต่งกายของนักศึกษานี้อย่างไร? และเหตุใดถึงยืนกรานหัวชนฝาว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น?


เราควรเริ่มต้นด้วยการกลับไปสำรวจทบทวนว่าหน้าที่แต่เดิมทีของสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องแบบ” (uniform) นั้นคืออะไรกันแน่? ซึ่งเราจะพบว่ามันคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลายล้างความเป็นปัจเจก และพร้อมกันนั้นก็คือการบังคับให้ต้องเป็นแบบเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวเราจึงจะเห็นว่า “เครื่องแบบ” จะบังคับใช้กันในองค์กรหรือสถาบันซึ่งมีเป้าหมายอยู่ท ี่การสลายพฤติกรรมแบบปัจเจกหรือความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิก ตัวอย่างเช่น สถาบันทหาร ตำรวจ องค์กรด้านความมั่นคงทั้งหลาย ทีมกีฬา ห้างสรรพสินค้า และรวมถึงคุกตะราง เป็นต้น


ซึ่งแน่นอนว่าคุณลักษณะและปรัชญาของสถาบัน หรือองค์กรเหล่านั้นย่อมตรงกันข้ามอย่างที่สุดกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของเสรีภาพทางความคิดของปัจเจกบุคคล ผ่านอิสระเสรีดังกล่าวนั้นเอง ที่จะก่อเกิดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งผลักดันความก้าวหน้าของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการสรรค์สร้างชีวิตที่ดีของผู้คน สิ่งเหล่านี้คือความใหม่ (raison d’être)อย่างแท้จริงของกำเนิดและดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัย


ด้วยเหตุผลนี้เช่นกันที่วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไปนั้นมีความแตกต่างตั้งแต่ขั้นพื้นฐานกับองค์กรหรือสถาบันเหล่านั้น หนึ่งในหลายๆ และรูปธรรมหนึ่งที่วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยที่แท้จริงแสดงตัวออกมาก็คือ วิธีการแต่งกายของนักศึกษานั่นเอง เราจะพบว่าในหลายต่อหลายประเทศ มหาวิทยาลัยได้เปิดกว้างและสรรค์สร้างให้เกิดบรรยากาศ ที่นักศึกษาจะได้ทดลองรูปแบบต่างๆ กันไปในการแต่งกายและการใช้ชีวิต มหาวิทยาลัยให้อิสระแก่พวกเขาซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่อาจหาได้ เมื่อพ้นจากเขตมหาวิทยาลัย ซึ่งที่จริงแล้วก็คือสิ้นสุดลงในทันทีเมื่อพวกเขาสำเร็จ


การศึกษาออกไป เราอาจจะกล่าวได้ว่าการก้าวออกจากบรรยากาศ ของการต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเข้มงวดของโรงเรียนสู่อิสระเสรีอย่างในมหาวิทยาลัยนั้น สัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดก็คือการถอดเครื่องแบบนักเรียน และหันมาเลือกหยิบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอันเป็นแฟชั่นของวัฒนธรรมหนุ่มสาวทั่วโลก
ที่จริงแล้วสัดส่วนไม่น้อยของครูบาอาจารย์ในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยนั้น สำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นเยี่ยมของโลก เราเผลอไผลคาดหวังว่า พวกเขาจะซึมซับเอาชุดความคิดอันสร้างสรรค์ทันสมัยจากมหาวิทยาลัยเหล่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วเราจะอธิบายการที่พวกเขายังยืนกรานดื้อด้าน ต่อเรื่องเครื่องแบบนักศึกษาอย่างไรดี?


คำตอบนั้นอาจจะย้อนกลับไปยัง ณ จุดกำเนิดของวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีคุณลักษณะของรัฐไทยแฝงฝังอยู่อย่างลึกซึ้งสองประการคือ ความเป็นราชการ(bureaucratism) และเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน (elitism)


มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น ก่อตั้งขึ้นในยุคสมัยซึ่งกำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ ระบบราชการทุกที่ในโลก โดยธรรมชาติแล้วจักต้องทำลายความเป็นตัวของตัวเองของข้าราชการ พยายามสร้างความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และผนวกเอาผู้ที่สยบยอมให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจ


ค่านิยมดังกล่าวเหล่านี้จึงถ่ายโอนมาสิงสู่อยู่ในมหาวิทยาลัย และระบบการศึกษาโดยทั่วไปของไทย นอกจากนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาวาดหวังที่จะเข้าไปทำงานราชการ ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยจึงทำหน้าที่ในการปลูกฝังค่านิยมแบบราชการ ให้แก่นักศึกษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ และค่านิยมเหล่านี ้ก็ถูกสรุปรวบยอดมาสู่ระบบที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษานั่นคือระบบ “โซตัส” (SOTUS)ซึ่งมาจากการรวมกันและยึดมั่นในคำว่า อาวุโส (Seniority) ระเบียบวินัย (Order)ขนบประเพณี (Tradition) เอกภาพ (Unity) และสำนึกภักดี (Spirit) ยังคงมีความพยายามถ่ายทอดระบบนี้อยู่กระทั่งทุกวันนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือกิจกรรมการรับน้องของนักศึกษามหาวิทยาลัย
ในกรณีของประเทศไทย กระบวนการทำให้วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยกลายเป็นวัฒนธรรมระบบราชการ (bureaucratization of university) ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นภายใต้ระบอบอำนาจนิยมของเจ้า-นายทหาร (militarist-royalist) ในช่วงทศวรรษ1960-1980 ซึ่งเป็นช่วงที่จะเห็นได้ถึงการขยายตัวเป็นอย่างมากของมหาวิทยาลัยรัฐ เครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัย จึงสัมพันธ์โดยตรงกับระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมดังกล่าว


 ทั้งนี้ระบอบอำนาจนิยมนั้น มักจับตาระแวดระวังต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่การบังเอิญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยืนหยัดอยู่ตรงกันข้ามกับระบอบดังกล่าวนั้น จึงไม่ได้บังคับให้นักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบนักศึกษา


คุณลักษณะประการที่สองคือความเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้น เป็นคุณลักษณะของมหาวิทยาลัยทั้งหลายของไทย มาตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเห่อเหิมแบบอภิสิทธิ์ชนของมหาวิทยาลัย ยิ่งเห็นได้เด่นชัดในช่วงสมัยซึ่งรัฐเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
 มหาวิทยาลัยและนักวิชาการได้รับมอบหมายหน้าที่ทรงเกียรติ ให้ใช้ความรู้ความสามารถของพวกเขา นำพาประเทศไปสู่สถานะของการเป็นประเทศพัฒนา ขณะที่การรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ยังคงจำกัดวงอยู่เฉพาะผู้โชคดีส่วนน้อยเท่านั้น


การได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจึงหมายถึงการรับพวกเขาเข้าสู่ชนชั้นอภิสิทธิ์ ได้รับการประกันปกป้องโดยรัฐ และได้รับการรับรองโดยชอบธรรมจากโวหารยวนใจที่เรียกกันว่า“การพัฒนา”
ด้วยเหตุนี้ ชุดนักศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับแสดงตนอย่างโก้ร่านต่อสาธารณะของผู้ซึ่งจะก้าวย่างขึ้นไปเป็นสมาชิกของกลุ่มชนชั้นสูง พร้อมกันนั้นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนา ที่จะจำแนกตัวเองออกมาให้แตกต่างจากผู้คนซึ่งไร้การศึกษา กลุ่มอภิสิทธิ์ชนนั้นโดยธรรมชาติแล้ว เป็นพวกที่มีแนวโน้มที่จะเอาเป็นเอาตายในการปกป้องปริมณฑลของตน ไม่ให้ใครมากล้ำกราย และเครื่องแบบนักศึกษาก็เป็นเขตแดนชัดเจน ที่แบ่งแยกระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยกับผู้ที่ไม่ใช่นักศึกษา
จะเห็นได้ว่าทั้งหลายทั้งสิ้นที่กล่าวมานี้ ไม่มีสักกระผีกเดียวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวของตัวเอง ความสร้างสรรค์ เสรีภาพทางความคิด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมหาวิทยาลัยยุคใหม่โดยทั่วไปเขาเป็นกัน


ด้วยเหตุนี้ การหยิบยกประเด็นว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นมาพูดในปี ค.ศ. 2006 จึงเป็นนำไปสู่คำถามที่ลึกซึ้งอย่างที่สุดต่อความหมายของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย ว่าท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นแบบใดกัน?


ท่ามกลางยุคสมัยระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของความรู้และภูมิปัญญา(Knowledge-based Economies) อย่างในปัจจุบันนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่าวัฒนธรรมแบบระบบราชการและอภิสิทธิ์ชนนั้น เป็นอุปสรรคใหญ่ยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของมหาวิทยาลัยของไทย หรือพูดอีกอย่างก็คือเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งต้องอาศัยมหาวิทยาลัยช่วยเสริมส่ง เป็นเรื่องน่ายินดีที่ว่านักการศึกษาของไทยตระหนักดีถึงความเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าวนี้ และเช่นเดียวกับประเทศในเอเชีย
หลายประเทศที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน รัฐบาลไทยได้เริ่มนโยบายปฏิรูปการอุดมศึกษา โดยกำหนดเป็นนโยบายมหาวิทยาลัยนอกระบบ


แต่กลับกลายเป็นว่านโยบายดังกล่าวนี้ กลับถูกคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรงโดยนักวิชาการและสถาบัน การศึกษาเสียเอง ความเป็นจริงนั้นคือว่า เราไม่ควรประเมินความยากลำบากของการปฏิรูปการศึกษาของไทยต่ำจนเกินไป สิ่งหนึ่งที่พูดถึงกันน้อยมากทั้งๆ ที่เป็นความบกพร่องที่สำคัญของรัฐบาล (ที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย) พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็คือความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษา ความล้มเหลวดังกล่าวนี้ของรัฐบาลซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้ามาอย่างล้นหลาม ยิ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากแสนสาหัสของงานดังกล่าว

ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษายิ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดใจมากยิ่งขึ้น  เพราะดูเหมือนว่าทุกคนต่างก็รู้กันดีว่า ปัญหาทั้งหลายที่สิงสู่สืบทอดอยู่ในระบบการศึกษานั้นคืออะไร คือไม่แคล้วจะเป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมของผู้เป็นครูบาอาจารย์ การเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามต่อคำพูดของครูอาจารย์ การเอาแต่ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง ความอ่อนแอของทักษะการคิดแบบวิพากษ์ การขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ และการเอาแต่ลอกเลียนจากผู้อื่น ซึ่งทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ล้วนเป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกว่า“การเป็นแบบเดียวกัน” (uniformity) นั่นเอง


อาจจะยังมีนักวิชาการอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่าจำเป็นแล้วจริงๆ หรือที่ประเทศไทยนั้นต้องมีการปฏิรูปมหาวิทยาลัย คำถามที่จะมีกลับไปก็คือว่าแล้วมหาวิทยาลัยของไทยจะสามารถยืนหยัด  แข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร? ในการจัดลำดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ของ Webometrics พบว่ามีมหาวิทยาลัยของไทยเพียง 6 มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ติดอันดับอยู่ในมหาวิทยาลัยหนึ่งพันอันดับแรกของโลก ทั้งนี้อันดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นอยู่อันดับที่ 509
(Webometrics Ranking of World Universities,http://www.webometrics.info/top100_continent.asp-cont=asia.htm “TopAsia”, 10 September 2006. )


แน่ล่ะว่าหลายคนอาจจะโต้แย้งและตั้งคำถาม ต่อวิธีการสำรวจและคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งการจัดอันดับดังกล่าว แต่กระนั้นความจริงพื้นฐานที่มิอาจปฏิเสธก็คือว่า สำหรับระบบการศึกษาขั้นสูงในระดับโลกแล้ว การจัดอันดับมหาวิทยาลัยย่อมจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะนักศึกษา บุคลากร และผู้สนับสนุนเงินทุนงบประมาณ จะยิ่งให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ในการพิจารณาเลือกมหาวิทยาลัยสำหรับพวกเขา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนี้ดี โดยสะท้อนออกมาในการกำหนด “วิสัยทัศน์” ที่ว่า “พัฒนาอุดมศึกษา สู่มาตรฐานสากล”

ภายใต้โวหารทางด้านการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับกันของทุกวันนี้ เราถูกเร่งเร้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ตระหนักว่าเราอาศัยในสังคมที่ยึดมั่นใน “ฐานความรู้” (knowledge-basedsociety) ซึ่งความหลากหลาย การสร้างสรรค์ และการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ นั้นเราไม่เพียงแต่ต้องทำการปกป้องคุ้มครอง หากแต่ยังต้องทำการส่งเสริมสนับสนุนด้วยเช่นกัน


ซากเดนของ “การเป็นแบบเดียวกัน” ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากระบบการศึกษาแบบราชการนั้นยังคงดำรงอยู่กับเรา วัฒนธรรมดังกล่าวนี้เกาะกุมครอบงำวิธีคิด ไม่เฉพาะแต่เพียงบุคลากรจำนวนมากของมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวิธีคิดของนักศึกษา และสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน โดยอุดมคติแล้วมหาวิทยาลัยควรที่จะนำทาง
ให้แก่สังคม มิใช่เพียงแค่คอยแต่ไล่ตามสังคม

การสวมใส่เครื่องแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัย จึงเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมตัวถ่วงแบบ “การทำให้เป็นแบบเดียวกัน” ของระบบราชการ ซึ่งหวาดระแวงและไม่วางใจต่อความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการเชื่อฟังปฏิบัติตามอย่างหน้ามืดตามัว และขัดขวางชิงชังเสรีภาพทางความคิด
ท่ามกลางยุคสมัยระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของความรู้และภูมิปัญญา ซึ่งมีการแข่งขันกันเป็นอย่างสูงในระดับโลกเช่นทุกวันนี้ สถาบันมหาวิทยาลัยมีหน้าที่รับผิดชอบ ที่จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ให้ทักษะความรู้ที่จักต้องไม่ล้าสมัยแก่พวกเขา เท่าที่สถาบันการศึกษาจะสามารถจัดหาให้ได้ วัฒนธรรมของการให้ทำตามเหมือนๆ กัน การปิดกั้นความเป็นตัวของตัวเอง ปิดกั้นการสร้างสรรค์และการคิดในเชิงวิพากษ์ ซึ่งแสดงผ่านเครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นสมควรที่จะหมดไปเสียที


หมายเหตุ แพทริค โจรี ผู้เขียน  ( ไม่แน่ใจว่า เคยเป็น ) อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ สาขาภูมิภาคศึกษา(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Share This Post

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น