สงสัยพาเพลินรอบรั้วมหาวิทยาลัยไทย ตอนที่ 7 ...เครื่องแบบนักศึกษา เครื่องแบบความคิด และรัฐประหาร 19 กันยา

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556


เครื่องแบบนักศึกษา เครื่องแบบความคิด และรัฐประหาร 19 กันยา 

แพทริค โจรี (อาจารย์ ม.วลัยลักษณ์) / จิรวัฒน์ แสงทอง 






        นับจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ประเด็นว่าด้วยบทบาทและสถานะของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้กลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงสำคัญอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระยะเวลาหลายปี นอกเหนือจากประเด็นถกเถียงต่อเนื่องในเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบ การวิวาทะในสังคมไทย โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการและมหาวิทยาลัยเอง ที่เผ็ดร้อนยิ่งกว่าเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ ต่อประเด็นทัศนคติและการเลือกข้างทางการเมืองของนักวิชาการ การยอมรับตำแหน่งที่เสนอโดยฝ่ายการเมือง การเขียนบทความให้ความชอบธรรมกับการกระทำทางการเมือง ฯลฯ


        นักวิชาการซึ่งเจตนาจะอธิบายบทบาทของมหาวิทยาลัยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองโดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แน่นอนว่าฟากหนึ่งของความคิดเห็นเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่บรรลุจุดสุดยอดในวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายใต้การพยายามยืนยันคุณค่าอันสำคัญยิ่งของมหาวิทยาลัยในฐานะการเป็นศูนย์กลางทางปัญญา เป็นแหล่งผลิต “ผู้นำ” ให้แก่สังคม กระทั่งความสำคัญของมหาวิทยาลัยขึ้นสูงไปถึงระดับความรับผิดชอบต่อการดำรงอยู่ของสังคม


        ลักษณะร่วมประการสำคัญของความคิดเห็นกลุ่มนี้ในการอธิบายบทบาทและข้อเสนอต่อการปฏิรูปมหาวิทยาลัยคือการยืนยันและอยู่ในกรอบของความเป็นราชการ ซึ่งสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นราชการในมหาวิทยาลัยที่เรามักจะไม่ทันสังเกตนั้นก็คือเครื่องแบบนักศึกษา การมองลึกลงไปยังความคิดที่อยู่เบื้องหลังเครื่องแบบนักศึกษาอาจนำไปสู่ความเข้าใจต่อท่าทีทางการเมืองของมหาวิทยาลัยไทย และเป็นการทวงถามถึงความพร้อมของสถาบันอุดมศึกษาในยุคที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


        สิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยรู้สึกงงงันเมื่อย่างเท้าเข้ามายังมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็คือการที่เห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดเครื่องแบบนักศึกษา ประเทศไทยนั้นแทบจะกลายเป็นที่เดียวในโลกซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษา ไม่เฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่รวมถึงในภูมิภาคเอเชียเองก็ด้วยเช่นกัน ความผิดแผกดังกล่าวนี้ทำให้เพื่อนนักศึกษาอินโดนีเซียของเราคนหนึ่งรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก กระทั่งต้องถามว่าทำไมนักศึกษาไทยไม่คัดค้านต่อต้าน “การคุกคามสิทธิมนุษยชน” ที่กระทำต่อนักศึกษาไทยบ้างเลย


        การบังคับให้นักศึกษาไทยแต่งเครื่องแบบนั้นอาจเป็นการบังคับโดยตรงผ่านกฎระเบียบมหาวิทยาลัย และบังคับโดยอ้อมผ่านพฤติกรรมของอาจารย์ บุคลากร การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ หรือป้ายประกาศต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการแต่งเครื่องแบบนักศึกษานั้นเป็น “เรื่องใหญ่” เรื่องหนึ่งของมหาวิทยาลัยไทย ป้ายประกาศที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณหน้าห้องทำงานอาจารย์ ห้องธุรการ หรือหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมีเนื้อความประมาณว่า “นักศึกษาที่มาติดต่อต้องแต่งกายถูกต้องตามระเบียบ” พร้อมกันนั้นเราก็มักจะได้ยินเสียงบ่นจากบรรดาอาจารย์ว่านักศึกษาแต่งกายไม่เรียบร้อย ไม่ถูกระเบียบอยู่เสมอๆ


        เราจะอธิบายอารมณ์หงุดหงิดเป็นกังวลต่อการแต่งกายของนักศึกษานี้อย่างไร? หากกลับไปสำรวจทบทวนว่าหน้าที่แต่เดิมทีของสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องแบบ” (uniform) นั้นคืออะไร เราจะพบว่าเครื่องแบบคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำลายล้างความเป็นปัจเจก และพร้อมกันนั้นก็คือการบังคับให้ต้องเป็นแบบเดียวกัน (uniformity) ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเครื่องแบบนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะบังคับใช้กันในองค์กรหรือสถาบันซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การสลายความเป็นตัวของตัวเองของสมาชิก อาทิเช่น สถาบันทหาร ตำรวจ องค์กรฟาสซิสต์ ลัทธิคลูคลักซ์แคลน ลูกเสือสำรอง ทีมกีฬา และรวมถึงคุกตะราง เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าคุณลักษณะและปรัชญาของสถาบันหรือองค์กรเหล่านั้นย่อมตรงกันข้ามอย่างที่สุดกับมหาวิทยาลัย


        มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานเสรีภาพทางความคิดของปัจเจกบุคคล ผ่านอิสระเสรีดังกล่าวนั้นเองที่จะก่อเกิดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งผลักดันความก้าวหน้าของสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการสรรค์สร้างชีวิตที่ดีของผู้คน สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายที่แท้จริงของกำเนิดและดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัย และรูปธรรมหนึ่งที่วัฒนธรรมแท้จริงของมหาวิทยาลัยแสดงตัวออกมาก็คือวิธีการแต่งกายของนักศึกษา ทั้งนี้อาจจะกล่าวได้ว่าการก้าวออกจากกฎระเบียบเข้มงวดของโรงเรียนสู่อิสระเสรีอย่างในมหาวิทยาลัยนั้น สัญลักษณ์ชัดเจนที่สุดก็คือการถอดเครื่องแบบนักเรียน และหันมาเลือกหยิบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอันเป็นแฟชั่นของวัฒนธรรมหนุ่มสาวทั่วโลก


        เราจึงจะพบว่ามหาวิทยาลัยในหลายต่อหลายประเทศได้เปิดกว้างให้เกิดบรรยากาศที่นักศึกษาจะได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตัวเองผ่านการทดลองการแต่งกาย การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิตในรูปแบบต่างๆ กันไป มหาวิทยาลัยให้อิสระแก่พวกเขาซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะสิ้นสุดลงเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป อิสระเสรีนี้รวมไปถึงการที่นักศึกษาจะยืนยันเครื่องแต่งกายอันซอมซ่อสมฐานะ หรือการขวนขวายแต่งแบบหรูหราฟู่ฟ่า การเรียนรู้ลองผิดลองถูกเหล่านี้คือการเรียนรู้ของพวกเขาก่อนจะก้าวไปสู่โลกแห่งการงานในอนาคต


        ท้ายที่สุดแล้วเราจะอธิบายการที่มหาวิทยาลัยไทยยืนกรานต่อการบังคับใช้เครื่องแบบนักศึกษาอย่างไร? คำตอบนั้นอาจจะย้อนกลับไปยัง ณ จุดกำเนิดของวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีคุณลักษณะของรัฐไทยแฝงฝังอยู่อย่างลึกซึ้งสองประการคือ ความเป็นราชการ (bureaucratism) และการเป็นอภิสิทธิ์ชน (elitism)


        มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการตั้งแต่แรก อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ ระบบราชการไม่ว่าที่ใดในโลกโดยธรรมชาติแล้วจักมุ่งเป้าลดความเป็นตัวของตัวเองของข้าราชการ พยายามสร้างความเป็นมาตรฐานเดียวกัน และผนวกเอาผู้ที่สยบยอมให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามคำสั่ง ค่านิยมดังกล่าวเหล่านี้ถ่ายโอนมาสิงสู่อยู่ในจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัย และในระบบการศึกษาโดยทั่วไปของไทย นอกจากนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาก็วาดหวังที่จะเข้าไปทำงานราชการซึ่งกำลังขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยจึงปลูกฝังค่านิยมแบบราชการให้แก่นักศึกษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ และค่านิยมเหล่านี้ก็ถูกสรุปรวบยอดมาสู่ระบบที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษานั่นคือระบบ “โซตัส” (SOTUS) ซึ่งมาจากการรวมกันและยึดมั่นในคำว่า อาวุโส (Seniority) ระเบียบวินัย (Order) ขนบประเพณี (Tradition) เอกภาพ (Unity) และสำนึกภักดี (Spirit)


        ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวนี้จึงไม่น่าแปลกประหลาดใจที่มีการบังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องแต่งเครื่องแบบในลักษณะเดียวกับที่ข้าราชการก็ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการ และยิ่งเข้าใจได้ว่าทำไมระบบโซตัส ซึ่งนำมาจากฝรั่งจะดำรงอยู่ในระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของไทยมายาวนานกระทั่งถึงปัจจุบัน


        ในกรณีของประเทศไทย กระบวนการทำให้วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยถูกครอบโดยวัฒนธรรมระบบราชการ ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จอำนาจของกลุ่มทหาร-ฝ่ายนิยมเจ้า (militarist-royalist) นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะเห็นได้ถึงการขยายตัวเป็นอย่างมากของมหาวิทยาลัยรัฐ ปริมาณผู้ใส่เครื่องแบบนักศึกษาซึ่งเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับปริมาณมหาวิทยาลัยจึงสัมพันธ์โดยตรงกับระบอบการเมืองดังกล่าว


        คุณลักษณะประการที่สองคือความเป็นอภิสิทธิ์ชนนั้น อยู่เคียงคู่กับมหาวิทยาลัยทั้งหลายของไทยมาตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเห่อเหิมแบบอภิสิทธิ์ชนของมหาวิทยาลัยยิ่งเห็นได้เด่นชัดในช่วงสมัยซึ่งรัฐเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ มหาวิทยาลัยและนักวิชาการได้รับมอบหมายหน้าที่อันทรงเกียรติให้ใช้ความรู้ความสามารถนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนา ขณะที่การรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็ยังคงจำกัดวงอยู่เฉพาะผู้วาสนาดีส่วนน้อยเท่านั้น การได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจึงหมายถึงการรับพวกเขาเข้าสู่ชนชั้นอภิสิทธิ์ ได้รับการประกันปกป้องโดยรัฐ และได้รับการรับรองโดยชอบธรรมจากโวหารยวนใจที่เรียกกันว่า “การพัฒนา”


        ด้วยเหตุนี้ ชุดนักศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับการแสดงตนอย่างโก้ร่านต่อสาธารณะของผู้ซึ่งจะก้าวย่างขึ้นไปเป็นสมาชิกของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน พร้อมกันนั้นก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะจำแนกตัวเองออกมาให้แตกต่างจากผู้คนซึ่งไร้การศึกษา กลุ่มอภิสิทธิ์ชนนั้นโดยธรรมชาติแล้วเป็นพวกที่มีแนวโน้มที่จะเอาเป็นเอาตายในการปกป้องปริมณฑลของตนไม่ให้ใครมากล้ำกราย และเครื่องแบบนักศึกษาก็เป็นเขตแดนชัดเจนที่แบ่งแยกระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยกับชาวบ้านทั่วไป


        จะเห็นได้ว่าทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ แทบไม่มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวของตัวเอง ความสร้างสรรค์ เสรีภาพทางความคิด ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของความเป็นมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง


        มหาวิทยาลัยไทยยิ่งได้รับโจทย์ใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำเป็นต้องเผชิญกับ “มาตรฐานสากล” ทั้งในแง่ที่ว่าประเทศไทยต้องปรับตัวทางเศรษฐกิจให้ก้าวทันเศรษฐกิจโลก และมหาวิทยาลัยเองก็จำเป็นต้องเพิ่มคุณภาพทางด้านวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเองตระหนักดีถึงสิ่งที่กำลังเผชิญหน้า โดยสะท้อนออกมาในการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ว่า “พัฒนาอุดมศึกษา สู่มาตรฐานสากล” พร้อมกันนั้นการที่สังคมไทยยอมรับว่ามี “อะไรบางอย่าง” ซึ่งดำรงอยู่ในมหาวิทยาลัยที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนี่เองได้กระตุ้นให้นักปฏิรูปการศึกษาต้องรีบเร่งแก้ปัญหา และเช่นเดียวกับประเทศในเอเชียหลายประเทศที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน รัฐบาลไทยได้เริ่มนโยบายปฏิรูปการอุดมศึกษา แต่ทุกรัฐบาลล้วนทราบดีแล้วว่าการดำเนินการปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่ลำบากยากเย็นที่สุด


        ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดใจมากยิ่งขึ้นเพราะดูเหมือนทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าปัญหาสำคัญของระบบการศึกษานั้นหาใช่ประเด็นปัญหาทางเทคนิค แต่คือการสืบทอดและดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอำนาจนิยมของครูบาอาจารย์ การที่นักศึกษาเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามต่อความรู้ที่ได้รับ การไม่กล้าแสดงออกความคิดเห็นต่าง การท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง ความอ่อนแอของทักษะการคิดแบบวิพากษ์ การขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ และการมักลอกเลียนจากผู้อื่น ทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ล้วนเป็นแก่นแกนของสิ่งที่เรียกว่า “การเป็นแบบเดียวกัน” นั่นเอง


        การเป็นแบบเดียวกันซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากระบบการศึกษาแบบราชการนั้นยังคงดำรงอยู่กับเรา วัฒนธรรมดังกล่าวนี้เกาะกุมครอบงำวิธีคิด ไม่เฉพาะแต่เพียงบุคลากรจำนวนมากของมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวิธีคิดของนักศึกษา และสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน การสวมใส่เครื่องแบบของนักศึกษามหาวิทยาลัยจึงเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการทำให้เป็นแบบเดียวกันของระบบราชการ ซึ่งหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจต่อความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการการเชื่อฟังปฏิบัติตามอย่างหน้ามืดตามัว และขัดขวางชิงชังเสรีภาพทางความคิด


        วัฒนธรรมของการให้ทำตามเหมือนๆ กัน การปิดกั้นความเป็นตัวของตัวเอง ปิดกั้นการสร้างสรรค์ ปิดกั้นการคิดในเชิงวิพากษ์ และเลือกที่จะหุบปาก รวมถึงการเห่อเหิมหลงตัวเองของชาวมหาวิทยาลัย เห่อเหิมภาคภูมิใจว่าเป็น “ผู้นำ” สังคม มหาวิทยาลัยจะอธิบายและรับผิดชอบต่อคุณลักษณะดังกล่าวนี้ของตัวเอง ซึ่งผลิตและธำรงรักษาไว้นานหลายทศวรรษ แล้วดันมาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังวันที่ 19 กันยายนอย่างไรดี?


หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ถูกส่งโดยผู้เขียนไปยังหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ 2-3 ฉบับเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองหลังรัฐประหารยังคงคุกรุ่น ไม่มีคำตอบใดๆ จากหนังสือพิมพ์เหล่านั้น 



Source : http://bbznet.pukpik.com/scripts/view.php?user=gvctu&board=2&id=1109&c=1&order=numreply

Share This Post

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น